การตรวจเช็คและบำรุงรักษา ถังดับเพลิง
บทความนี้ได้รับการอนุญาตเผยแพร่จาก บริษัท สยามเบสท์ สตีล เวิร์คส์ จำกัด และ www.saturnfireproduct.com แล้ว
ข้อแนะนำและวิธีการตรวจเช็คถังดับเพลิง จากโรงงานผลิตถังดับเพลิง ผู้ผลิตถังดับเพลิง
การบำรุงรักษาเครื่องดับเพลิง
เครื่องดับเพลิงเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างยิ่ง จึงควรบำรุงรักษาเพื่อให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานต่อเหตุไม่คาดคิดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอยู่เสมอ
สถานที่ติดตั้ง
- หลีกเลี่ยงการติดตั้งไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง มีความชื้นสูง หรือเกิดความสกปรกได้ง่าย เช่น ตากแดด ตากฝน หรือติดตั้งใกล้จุดกำเนิดความร้อนต่างๆ เช่น เตาไฟ หรือเครื่องจักรที่มีความร้อนสูง
การบำรุงรักษา
- ทำความสะอาดตัวถัง และอุปกรณ์(สายฉีด, หัวฉีด) เป็นประจำเพื่อตรวจดูสภาพตัวถังและอุปกรณ์อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และมีสภาพใหม่อยู่เสมอ
- หากเป็นเครื่องดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง ควรยกถังพลิกคว่ำ-หงาย ประมาณ5-6ครั้ง ทุกๆ3-6เดือน เพื่อให้ผงเคมีมีการเคลื่อนตัวและไม่จับตัวเป็นก้อน
- เครื่องดับเพลิงที่มีอายุเกิน 5 ปีขึ้นไป ควรส่งมาตรวจสอบที่บริษัทเพื่อตรวจเช็คสภาพของตัวเครื่องและทำการถ่ายเคมีออกและบรรจุใหม่
การตรวจสอบแรงดันภายในเครื่องดับเพลิง
1.แรงดันปกติ(195psi): เข็มอยู่ในแนวตั้ง 90ºC ที่แรงดันปกติ195psi หรือในพื้นที่สีเขียวแสดงว่าอยู่ใน สภาพพร้อมใช้
2.แรงดันตํ่า(RECHARGE): เข็มเอียงไปทางด้านซ้ายมือนอกพื้นที่สีเขียว หรือต่ำกว่าแรงดันปกติ195psi แสดงว่าแรงดันภายในถังต่ำกว่าปกติอยู่ในสภาพไม่พร้อมใช้งาน ควรติดต่อบริษัททันทีเพื่อทำการอัด ฉีดแรงดันใหม่
3.แรงดันเกิน(OVERCHARGE): เข็มเอียงไปทางด้านขาวมือนอกพื้นที่สีเขียว หรือสูงกว่าแรงดันปกติ 195psi แสดงว่าแรงดันภายในถังสูงกว่าปกติสภาพถังอาจจะบวมหรือแตกออกหากแรงดันขึ้นสูงเกิน 1000psi อาจทำให้เกิดอันตรายเนื่องจากถังอาจระเบิดได้!!! ควรติดต่อบริษัทให้ดำเนินการแก้ไขโดยด่วน
หมายเหตุ: เครื่องดับเพลิงชนิดCO2 จะไม่มีมาตรวัดแรงดัน ผู้ใช้สามารถตรวจวัดก๊าสภายในถังได้โดย วิธีชั่งน้ำหนัก หากน้ำหนักก๊าสภายในถังลดลงต่ำกว่า80 % ควรติดต่อบริษัทเพื่อทำการดำเนินการบรรจุใหม่ในทันที
ขั้นตอนการตรวจเช็คถังดับเพลิง
การตรวจเช็คและบำรุงรักษาถังดับเพลิง สามารถทำได้ด้วยตนเองตามขั้นตอนดังนี้
ท่านสามารถดาวน์โหลดตารางตรวจเช็คถังดับเพลิงได้ที่นี่
1. ตรวจดูซีลและสลักนิรภัย ซีลต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่ขาดหรือสูญหาย และสลักนิรภัยจะต้องเสียบอยู่ที่ด้านคันบีบถังดับเพลิง ในกรณีที่ ซีล หรือ สลัก ไม่อยู่ที่ตัวถัง ให้ใส่สลักนิรภัยสำรองที่คันบีบให้เรียบร้อยก่อนเนื่องจากถังอาจมีแรงดันอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้เคมีในถังดับเพลิงถูกฉีดออกมาและตรวจสอบขั้นตอนต่อไป
2. ตรวจสอบมาตรวัดแรงดัน เข็มแรงดันจะต้องอยู่ในแถบสีเขียวเท่านั้น หากเข็มอยู่ต่ำกว่าแถบสีเขียว หรือเลยแถบสีเขียว ต้องส่งถังกลับมาที่ผู้แทนจำหน่ายหรือโรงงานผู้ผลิต เพื่อตรวจสอบและแก้ไขได้อย่างทันที
3. ตรวจสอบสายฉีดและสนิมรอบตัวถัง สายฉีดต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่ชำรุดหรือฉีกขาด และใช้สายตาตรวจที่ตัวถังโดยรอบ จะต้องไม่มีสนิมรอยใหญ่ๆเกิดขึ้นซึ่งอาจทำให้ตัวถังมีความแข็งแรงน้อยลง
4. พลิกคว่ำถังไปมา หลังจากตรวจสอบเสร็จเรียบร้อยแล้วให้ทำการพลิกคว่ำถังดับเพลิงไปมา 3-4 ครั้ง และลองจับความรู้สึกเคมีด้านในถังดับเพลิงดู ด้านในผงเคมีต้องมีการไหลเหมือนทราย การพลิกคว่ำถังทำเพื่อช่วยให้เคมีด้านในมีการเคลื่อนไหวไม่จับตัวเป็นก้อนซึ่งจะทำให้การฉีดมีประสิทธิภาพมากที่สุด หากพลิกคว่ำแล้วรู้สึกเหมือนเป็นก้อนหล่นตุบในถัง ให้สันนิษฐานว่าเคมีภายในอาจจับตัวเป็นก่อนและควรถึงเวลาต้องเปลี่ยนเคมีภายในใหม่
**การตรวจเช็คถังดับเพลิง ควรทำทุกๆ 3 เดือน หรืออย่างน้อยที่สุด ทุกๆ6เดือน**